Trade Union; Labour Union (-)

สหภาพแรงงาน (-)

สหภาพแรงงาน คือ องค์กรที่ผู้ประกอบอาชีพเดียวกันหรือหลายอาชีพที่สัมพันธ์กันจัดตั้งขึ้นเพื่อต่อรองกับนายจ้างโดยเฉพาะเรื่องค่าจ้างและชั่วโมงทำงาน และพิทักษ์ผลประโยชน์ของสมาชิกเพื่อให้สมาชิกและครอบครัวสามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพสหภาพแรงงานเกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษสืบเนื่องมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)* ที่เริ่มต้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ การจัดตั้งในระยะแรกต้องเผชิญกับการต่อต้านจากทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายนายจ้าง จนกระทั่งปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ สหภาพแรงงานจึงมีสถานภาพทางกฎหมายที่มั่นคงขึ้น หลังจากนั้นขบวนการสหภาพแรงงานได้เริ่มมีบทบาทในการเมืองของประเทศ เพราะการขยายตัวของอุตสาหกรรมทำให้อังกฤษขยายสิทธิการออกเสียงเลือกตั้งให้แก่พลเมืองมากขึ้น โดยมีการผ่านร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่ (Great Reform Bill)* ค.ศ. ๑๘๓๒ และต่อมาฉบับที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๘๖๗ และฉบับที่ ๓ ใน ค.ศ. ๑๘๘๔ ซึ่งทำให้พลเมืองชายทุกคนสามารถออกเสียงเลือกตั้งได้ สมาชิกสหภาพแรงงานบางคนได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสังกัดพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วเพื่อรับการเลือกตั้ง ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งร่วมกันผลักดันให้เกิดการก่อตั้งพรรคแรงงาน (Labour Party)* ขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ การที่สหภาพแรงงานบางแห่งสนับสนุนทางการเงินแก่พรรคแรงงานจึงมีสิทธิมีเสียงในนโยบายและการบริหารงานของพรรคฯ โดยผ่านกระบวนการคัดเลือกผู้แทนเข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมาธิการบริหารระดับชาติแห่งพรรคแรงงาน (Labour National Executive Committee) ซึ่งใน ค.ศ. ๒๐๑๗ มีจำนวน ๑๓ คน จากทั้งหมด ๓๙ คน แต่บรรดาสมาชิกสหภาพแรงงานต่างๆในฐานะปัจเจกชนยังคงมีสิทธิเลือกที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคแรงงานหรือไม่และมีอิสระที่จะออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนที่สังกัดพรรคการเมืองอื่น ๆ

 ตั้งแต่ครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ชาวอังกฤษส่วนหนึ่งเริ่มอพยพทิ้งถิ่นฐานไร่นามาเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรในการผลิตสินค้า ทำให้ต้องเผชิญกับการทำงานในระบบโรงงาน (factory system) ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับวิถีชีวิตชนบทดั้งเดิมผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็พยายามลดต้นทุนทั้งในแง่การกดค่าแรง การไม่อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในอาคารสถานที่ของโรงงานและเขตที่พักคนงาน การบีบคั้นให้ยอมรับจำนวนชั่วโมงทำงานที่อาจสูงถึง ๑๖ ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ คนงานยังต้องเสี่ยงต่อการล้มป่วยอันเนื่องมาจากการขาดสุขอนามัยที่ดีในเขตโรงงาน และการบาดเจ็บจากเครื่องมือเครื่องจักรจนอาจทำให้ต้องหยุดงานและขาดรายได้ด้วยเหตุนี้ต่อมา คนงานจึงคิดอ่านรวมตัวกันเพื่อให้มีอำนาจต่อรองกับผู้ประกอบการได้บ้างสหภาพรุ่นแรก ๆ นั้นมีขนาดเล็กตั้งอยู่ในท้องถิ่นในหมู่คนงานอุตสาหกรรมทอผ้าขนสัตว์ เช่น คนสางขนแกะ (wool comber) คนตัดขนแกะ (cropper) หรือพัฒนามาจากกิลด์ (guild) ซึ่งเป็นสมาคมของกลุ่มช่างฝีมือต่าง ๆ ในสมัยกลาง การรวมตัวกันนั้นเป็นไปเพื่อปกป้องอาชีพและสงเคราะห์ครอบครัวของสมาชิกยามป่วยไข้ ตกงาน หรือเสียชีวิตโดยมักจะใช้ผับ (public house) หรือร้านเหล้าเป็นที่ประชุม

 เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* รัฐบาลอังกฤษเกรงว่ากระแสการปฏิวัติอาจจะมีอิทธิพลต่อชาวอังกฤษบางกลุ่มที่ต้องการล้มล้างระบอบการปกครองที่เป็นอยู่และจัดตั้งระบอบสาธารณรัฐแบบฝรั่งเศสหรือเคลื่อนไหวในแนวทางปฏิวัติ ดังนั้นรัฐบาลอังกฤษจึงออกกฎหมายห้ามการรวมตัวหรือการชุมนุมเพื่อต่อรองเรื่องค่าจ้าง ชั่วโมงทำงาน หรือชักชวนผู้อื่นให้หยุดงาน หากฝ่าฝืนจะถูกโทษจำคุก ๓ เดือน หรือทำงานหนัก๒เดือนโดยออกเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการชุมนุม (Combination Act) ฉบับ ค.ศ. ๑๗๙๙ และ ค.ศ. ๑๘๐๐ ในบรรยากาศเช่นนี้บรรดาสหภาพแรงงานหรือสมาคมช่างฝีมือต่าง ๆ ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นองค์กรคบคิดเพื่อก่ออาชญากรรม (criminal conspiracy)

 เมื่อการรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย พัฒนาการของสหภาพแรงงานในอังกฤษจึงหยุดชะงักลง บางแห่งพยายามดิ้นรนให้คงอยู่โดยเปลี่ยนสถานะเป็นสมาคมสงเคราะห์เพื่อนสมาชิก (friendly society) เหมือนกับ Royal Order of Ancient Shepherds, Hearts of Oak, Oddfellows, Foresters บางแห่งก็ดำเนินการแบบหลบๆซ่อนๆจนกระทั่ง ค.ศ. ๑๘๒๔ และ ค.ศ. ๑๘๒๕


มีการเพิกถอนกฎหมายห้ามการชุมนุม ทำให้การมารวมตัวกันเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองค่าจ้างและชั่วโมงทำงานไม่เป็นเรื่องผิดกฎหมายอีกต่อไป แต่การดำเนินงานยังมีข้อจำกัดบางประการอยู่

 ใน ค.ศ. ๑๘๓๓ หลังจากมีการขยายสิทธิออกเสียงเลือกตั้งตามร่างพระราชบัญญัติปฏิรูปการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่ ค.ศ. ๑๘๓๒ รอเบิร์ต โอเวน (Robert Owen)* นักสังคมนิยมแนวยูโทเปีย (Utopian socialist) ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการสิ่งทอรายใหญ่ที่เมืองแมนเชสเตอร์ (Manchester) ได้จัดตั้งสหพันธ์แรงงานแห่งชาติ (Grand National Consolidated Trades Union) ขึ้น ซึ่งไม่ใช่องค์กรระดับท้องถิ่นอย่างแต่ก่อน แต่เป็นสหพันธ์ที่ประสงค์จะสร้างเครือข่ายทั่วประเทศ อย่างไรก็ดีการดำเนินงานไม่บรรลุผลตามความมุ่งหมาย เพราะรัฐบาลอังกฤษเกรงว่าองค์กรเช่นนี้จะก่อการปั่นป่วนจึงนำไปสู่เหตุการณ์ผู้พลีชีพแห่งโทลพัดเดิล (Tolpuddle Martyrs) ใน ค.ศ. ๑๘๓๔

 เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่สมาชิกของสหพันธ์แรงงานแห่งชาติสาขามณฑลดอร์เซตเชียร์ (Dorsetshire) จำนวน ๖ คน ซึ่งเป็นชาวไร่รับจ้างในหมู่บ้านโทลพัดเดิลร่วมกันก่อตั้งสมาคมสงเคราะห์เพื่อนสมาชิกแรงงานชาวไร่ (Friendly Society of Agricultural Laborers) เพื่อประท้วงการที่ค่าแรงตกลงเรื่อย ๆ โดยยืนยันว่าจะไม่รับค่าแรงที่ต่ำกว่า ๑๐ ชิลลิงต่อสัปดาห์ ทั้งที่ขณะนั้นมีแนวโน้มว่าค่าแรงที่เป็นอยู่ ๗ ชิลลิง จะถูกกดลงเหลือ ๖ ชิลลิงด้วยซ้ำชาวไร่ ๖ คนนี้ที่มีจอร์จ เลิฟเลส (George Loveless) นักเทศน์นิกายเมทอดิสต์ (Methodism) เป็นหัวหน้าถูกคณะลูกขุนซึ่งประกอบด้วยเหล่าบรรดานายจ้างตัดสินให้เนรเทศไปออสเตรเลียเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๓๔ เพื่อรับโทษคุมขังและทำงานหนัก (penal servitude) เป็นเวลา ๗ ปี ข้อหาคือละเมิดกฎหมายที่ห้ามการกล่าวปฏิญาณอย่างลับ ๆ ที่แสดงความจงรักภักดีต่อองค์กร องค์กรแบบนี้มักจะใช้ภาพวาดรูปโครงกระดูกซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความตายในพิธีกรรม สมาชิกที่เพิ่งเข้ามาร่วมกลุ่มจะถูกผ้าพันปิดตาระหว่างกล่าวคำปฏิญญาและรับมอบรูปภาพดังกล่าว[ตัวอย่างรูปภาพแบบนี้จัดวางอยู่ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แรงงานแห่งชาติ (National Museum of Labour History) เมืองแมนเชสเตอร์ ซึ่งใน ค.ศ. ๒๐๐๑ เปลี่ยนชื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งประชาชน (People’s History Museum)] ทางการระบุว่า ชายทั้ง ๖ คนละเมิดกฎหมายที่ไปชุมนุมกันกล่าวคำปฏิญญาใต้ต้นไซคามอร์ (sycamore พืชตระกูลเดียวกับเมเปิลและมะเดื่อ) เลิฟเลสถูกส่งไปที่เกาะวันไดเมน [Van Diemen’s Land ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๕๖ เปลี่ยนชื่อเป็นเกาะแทสเมเนีย (Tasmania)] คนอื่นๆถูกส่งไปอาณานิคมนิวเซาท์เวลส์(NewSouth Wales) ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองซิดนีย์ (Sydney) เหตุการณ์นี้เป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐยังหวั่นกลัวมากกับการก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง เพราะก่อนช่วงเวลานั้นไม่นาน ประเทศต่าง ๆ บนภาคพื้นทวีปพากันได้รับแรงสั่นสะเทือนจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๓๐ (French Revolution of 1830)* การตัดสินลงโทษเนรเทศเกิดขึ้นท่ามกลางเสียงคัดค้านอื้ออึงมีการเดินขบวนไปตามท้องถนนในหลายเมืองและรวบรวมรายชื่อคัดค้านได้ถึง ๘๐๐,๐๐๐ คน จึงนำไปสู่การอภัยโทษใน๒ ปีต่อมาด้วยเหตุผลว่าผู้ต้องโทษมีความประพฤติดี หลังจากทั้ง ๖ คนกลับคืนสู่อังกฤษแล้ว มีคนเดียวเท่านั้นที่คงกลับไปตั้งรกรากที่หมู่บ้านโทลพัดเดิล คนอื่น ๆ ที่เหลือต่อมาพากันอพยพไปอยู่แคนาดา ปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์ผู้พลีชีพแห่งโทลพัดเดิล (Tolpuddle Martyrs Museum) ในมณฑลดอร์เซตเชียร์ที่จัดแสดงเรื่องราวของเหตุการณ์นี้ซึ่งถือกันว่ามีความสำคัญต่อพัฒนาการของขบวนการสหภาพแรงงานในอังกฤษ ในสัปดาห์ที่ ๓ ของเดือนกรกฎาคมสภาสหภาพแรงงานหรือทียูซี (Trades Union Congress–TUC) จะจัดงานเทศกาลผู้พลีชีพแห่งโทลพัดเดิล (Tolpuddle Martyrs Festival) เป็นประจำทุกปี

 เหตุการณ์ผู้พลีชีพแห่งโทลพัดเดิลทำให้ขบวนการจัดตั้งสหภาพแรงงานในอังกฤษชะงักลงอีกครั้ง ที่เหลืออยู่เป็นเพียงสหภาพแรงงานระดับท้องถิ่นหรือไม่ก็เป็นสหภาพของพวกแรงงานฝีมือ (skilled labour) ซึ่งมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างได้มากกว่าแรงงานไร้ฝีมือ ได้แก่ ช่างไม้ ช่างทำกรอบประตูหน้าต่าง คนงานเหมือง และวิศวกร ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากจึงหันไปสนับสนุนขบวนการชาร์ทิสต์ (Chartism)* ที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๓๘ ซึ่งเรียกร้องให้รัฐเปิดโอกาสให้ผู้ใช้แรงงานมีส่วนร่วมในการเมือง เช่น การลดคุณสมบัติทางด้านทรัพย์สินของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และการให้เงินเดือนแก่ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญ(House of Commons) หากรัฐยินยอมตามข้อเรียกร้องของขบวนการชาร์ติสต์กรรมกรก็จะสามารถใช้บทบาททางการเมืองพัฒนาความเป็นอยู่ในการดำรงชีพให้ดีขึ้นได้ แต่ขบวนการนี้ก็สิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๘๔๘

 ในต้นทศวรรษ ๑๘๕๐ มีสหภาพแรงงานแบบใหม่เกิดขึ้น ขณะที่เดิมมักจะเป็นระดับเมืองและอาชีพเดียวกันเข้มงวดในการรับสมาชิกเพราะจำกัดอยู่เฉพาะอาชีพเดียว และเป็นแรงงานฝีมือ เช่น ช่างไม้ ช่างพิมพ์ช่างเย็บปกหนังสือ และช่างที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆได้แก่วิศวกร ช่างต่อเรือ และช่างทำแพตเทิร์น (pattern maker)สหภาพแรงงานรูปแบบใหม่แห่งแรกคือสหพันธ์วิศวกร (Amalgamated Society of Engineers) ที่ตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๕๑ มีเครือข่ายระดับชาติ นอกจากมีสมาชิกกว้างไกลไม่จำกัดในเขตเมืองเดียว ยังเก็บค่าสมัครสมาชิกอัตราสูง และจำกัดวงเพียงแรงงานฝีมือเท่านั้น นับเป็นสหภาพแรงงานรุ่นใหม่แห่งแรกที่ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นตัวแทนอาชีพที่สามารถกำหนดให้การฝึกงานเป็นบรรทัดฐานสำหรับผู้จะเข้าสู่อาชีพวิศวกรต่อมามีการจัดตั้งสหพันธ์ช่างไม้และช่างทำกรอบประตูหน้าต่าง (Amalgamated Society of Carpenters and Joiners) ใน ค.ศ. ๑๘๖๒

 อย่างไรก็ดี ผู้คนก็ยังรู้สึกว่าสหภาพแรงงานไม่ใช่องค์กรที่ถูกกฎหมายนัก จำนวนผู้เข้าเป็นสมาชิกจึงยังมีจำนวนน้อยดังนั้นจึงมีการจัดตั้งสภาสหภาพแรงงานหรือทียูซีขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๖๘ โดยพัฒนามาจากสภาแรงงานแห่งกรุงลอนดอน (London Trades Council) เพื่อเป็นเวทีกลางสำหรับสมาชิกสหภาพต่าง ๆ แลกเปลี่ยนข่าวสารกัน โดยมีการประชุมครั้งแรกที่เมืองแมนเชสเตอร์ และจากการที่ปีก่อนหน้านั้นมีการผ่านร่างพระราชบัญญัติปฏิรูปการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ค.ศ. ๑๘๖๗ ซึ่งขยายโอกาสให้คนมีสิทธิทางการเมืองมากขึ้นทำให้ในที่สุดมีการออกพระราชบัญญัติสหภาพแรงงานค.ศ. ๑๘๗๑ (Trade Union Act 1871) รับรองสถานะของสหภาพแรงงานทางกฎหมายอีกครั้งหนึ่งและอนุญาตให้สหภาพต่าง ๆ ปกป้องกองทุนของตนได้

 อย่างไรก็ดีสหภาพแรงงานรุ่นใหม่ของผู้ใช้แรงงานเน้นการจัดหาความคุ้มครองยามสมาชิกตกงานหรือเจ็บป่วยมากกว่าปัดเป่าข้อขัดแย้งกับนายจ้าง และถ้ามีก็มักจะหาทางเจรจาตกลงกับนายจ้างมากกว่าที่จะนัดหยุดงาน กล่าวได้ว่า การจัดตั้งสหภาพแรงงานเกือบตลอดคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ยังไม่ค่อยเปิดรับแรงงานไร้ฝีมือนักเพราะเกรงว่าจะก่อผลเสีย เมื่อสหภาพแรงงานมีลักษณะเป็นเช่นนี้จึงค่อยเป็นที่เบาใจของรัฐบาล แต่ก่อนสิ้นศตวรรษ เกิดเหตุการณ์การนัดหยุดงานของคนงานท่าเรือกรุงลอนดอน (London Dock Strike) ใน ค.ศ. ๑๘๘๙ อันเนื่องมาจากกรรมกรท่าเรือเรียกร้องค่าแรงเพิ่มขึ้นจาก๕เพนนีเป็น๖เพนนีต่อชั่วโมง และ ๘ เพนนีสำหรับการทำงานนอกเวลา เพราะอัตราที่เป็นอยู่นั้นทำให้การครองชีพขัดสนมากการเรียกร้องของแรงงานไร้ฝีมือครั้งนี้ที่มีเบน ทิลเล็ต (Ben Tillett) จัดตั้งสหภาพแรงงานท่าเรือและแรงงานทั่วไป (Dock, Wharf, Riverside and General Labourers’Union)ขึ้นและประสบความสำเร็จเพราะแรงงานฝีมือเห็นใจและร่วมหยุดงานด้วย ผู้นำของสหพันธ์วิศวกรเข้ามานำการประท้วงหยุดงานเองเมื่อเหล่านายจ้างที่ท่าเรือไม่ยินยอมตามข้อเรียกร้องผู้สนับสนุนอีกนับแสนคนเดินขบวนประท้วงอย่างสงบและเป็นระเบียบในเขตกลางกรุงลอนดอน และเมื่อเงินทุนในการจัดประท้วงหยุดงานเริ่มร่อยหรอสมาชิกสหภาพแรงงานแห่งออสเตรเลียยังจัดส่งเงินมาช่วย ๓๐,๐๐๐ ปอนด์ ในที่สุด นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนและคาร์ดินัลเฮนรี เอดเวิร์ด แมนนิง (Henry Edward Manning) ซึ่งเป็นอาร์ชบิชอปแห่งเวสต์มินสเตอร์ (Archbishop of Westminster) ก็ช่วยเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยระหว่าง ๒ ฝ่าย จนการประท้วงจบลงภายใน ๕ สัปดาห์ สมาชิกสหภาพนี้จำนวน ๓๐,๐๐๐ คน ได้รับการตอบสนองด้านค่าจ้างและสภาพการทำงานที่ดีขึ้นหลังเหตุการณ์นี้แรงงานไร้ฝีมือซึ่งได้รับค่าแรงต่ำหันมาจัดตั้งหรือสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานมากขึ้น

 เมื่อมีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขบวนการสหภาพแรงงานก็เบนทิศทางสู่การเมืองของประเทศมากขึ้นหลังจากที่อะเล็กซานเดอร์ แมกดอนัลด์ (Alexander Macdonald) และทอมัส เบิร์ต (Thomas Burt) สมาชิกสหภาพคนงานเหมืองแร่ได้กรุยทางในการเข้าสู่สภาสามัญแล้วตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๗๔ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สมาชิกสหภาพแรงงานได้รับเลือกตั้งเข้าสภา แต่ในนามผู้สมัครจากพรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* ใน ค.ศ. ๑๙๐๐ เกิดคดีทัฟฟ์เวล (Taff Vale Case)* ซึ่งสหพันธ์พนักงานรถไฟ (Amalgamated Society of Railway Servants) ประท้วงหยุดงานต่อบริษัทรถไฟทัฟฟ์เวล (Taff Vale Railway Company) เป็นเวลา ๑๑ วัน ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่บริษัทรถไฟขาดรายได้นั้น สภาขุนนาง (House of Lords) ตัดสินว่าสหพันธ์ฯ ต้องรับผิดชอบ ทำให้มีผลกระทบต่อกองทุนของสหพันธ์พนักงานรถไฟอย่างมาก และคำตัดสินเช่นนี้จะเป็นธงนำร่องที่ทำให้บรรดาสหภาพแรงงานอื่น ๆ ไม่กล้านัดหยุดงานประท้วงได้อีก ด้วยเหตุนี้ใน ค.ศ. ๑๙๐๐ สภาสหภาพแรงงานหรือทียูซีจึงตัดสินใจเข้าร่วมมือกับกลุ่มสังคมนิยมต่าง ๆ เช่น พรรคแรงงานอิสระ (Independent Labour Party) สมาคมเฟเบียน (Fabian Society)* จัดตั้งคณะกรรมาธิการผู้แทนแรงงานหรือแอลอาร์ซี (Labour Representation Committee–LRC) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่คัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นตัวแทนของผู้ใช้แรงงานเข้าสู่สภาสามัญ เพราะเห็นความจำเป็นแล้วว่าผู้ใช้แรงงานต้องมีผู้แทนของตนเองจะหวังพึ่งพรรคการเมืองที่มีอยู่เก่าไม่ได้นัก ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๖ คณะกรรมาธิการผู้แทนแรงงานแถลงประกาศตนเป็นพรรคแรงงานอย่างเป็นทางการ เมื่อสหภาพแรงงานต่าง ๆ ช่วยกันสนับสนุนพรรคใหม่ทางด้านการเงิน จึงเท่ากับว่าสหภาพแรงงานมีช่องทางแสดงออกทางการเมืองด้วยแล้ว

 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* การที่รัฐบาลต้องการการสนับสนุนจากภาคแรงงานในประเทศ จึงเปิดทางให้สหภาพแรงงานมีบทบาทและอิทธิพลมากขึ้น จำนวนแรงงานที่เข้าสังกัดสหภาพแรงงานต่างๆ จึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จำนวนสมาชิกซึ่งเคยมีประมาณ ๔ ล้านคนในช่วงต้นของสงครามเพิ่มขึ้นเป็น ๘.๕ ล้านคนใน ค.ศ. ๑๙๒๐ แต่หลังสงครามใน ค.ศ. ๑๙๒๑ เกิดเหตุการณ์แบล็กไฟรเดย์ (Black Friday) ที่การผนึกกำลังร่วมมือกันของกลุ่มพันธมิตรผิดแผกไปจากเดิมเมื่อแรงงานด้านการขนส่งคมนาคมและพนักงานการรถไฟไม่ได้สนับสนุนการนัดหยุดงานของแรงงานเหมืองถ่านหิน และใน ค.ศ. ๑๙๒๖ เกิดการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ (General Strike)* ซึ่งสหภาพแรงงานเหมืองตกเป็นฝ่ายที่ต้องยอมจำนนกับท่าทีที่แข็งกร้าวของรัฐและยินยอมกลับเข้าทำงานโดยยอมรับชั่วโมงทำงานที่มากขึ้นและค่าแรงที่ลดลงหลังจากมีการหยุดงานประท้วง ๙ วันของแรงงานทั่วประเทศ ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน เพื่อสนับสนุนคนงานเหมือง ๑,๕๐๐,๐๐๐ คน นอกจากนั้น รัฐบาลยังรุกต่อโดยการออกกฎว่าการนัดหยุดงานเพื่อแสดงการสนับสนุน (sympathy strike) ก็ถือว่าผิดกฎหมายเช่นกัน

 ขบวนการสหภาพแรงงานจึงอยู่ในภาวะถดถอยครั้งใหญ่ จากที่เคยมีจำนวนสมาชิกสูงสุด ๘.๕ ล้านคนใน ค.ศ. ๑๙๒๐ เป็น ๓.๓ ล้านคนใน ค.ศ. ๑๙๓๔ นับว่าเป็นการลดลงอย่างเห็นได้ชัด และต้องใช้เวลานับ ๑๐ ปีกว่าจะฟื้นตัวดังเดิม สภาสหภาพแรงงานจึงต้องเปลี่ยนท่าทีที่เคยแข็งกร้าวมาเป็นการมีความสัมพันธ์กับองค์กรธุรกิจต่าง ๆ แทนจนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ขึ้น ระหว่างสงครามนี้ เออร์เนสต์ เบวิน (Ernest Bevin)* เลขาธิการของสหภาพแรงงานขนส่งและแรงงานทั่วไป (Transport and General Workers Union–TGWU) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานใหญ่และสำคัญ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานด้วยในสมัยรัฐบาลผสมที่มีวินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* แห่งพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* เป็นผู้นำ

 หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ พรรคแรงงานได้คะแนนเสียงท่วมท้นจึงได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาล เบวินได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานยิ่งเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าสหภาพแรงงานของเหล่าอุตสาหกรรมดั้งเดิม ได้แก่เหล็กเหล็กกล้า ต่อเรือการเกษตรสิ่งทอและเหมืองแร่มีจำนวนสมาชิกลดลง แต่มีการชักชวนให้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพของคนทำงานในออฟฟิศหรือพวกคอปกขาว (white collar) กันมากขึ้น อย่างไรก็ตามสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดยังคงเป็นประเภทสหภาพทั่วไปซึ่งมีแรงงานหลากหลายอาชีพเข้าเป็นสมาชิกอันได้แก่ สหภาพแรงงานขนส่งและแรงงานทั่วไป เมื่อรัฐบาลมีนโยบายใช้แนวคิดของเคนส์ (Keynesianism) ในการฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม นั่นคือ การทุ่มเทงบประมาณของรัฐในการสร้างงานให้แก่พลเมืองเพื่อลดอัตราการว่างงานลง สมาชิกสหภาพแรงงานจึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนถึง ๘ ล้านคนใน ค.ศ. ๑๙๕๒ และ ๑๐ ล้านคนใน ค.ศ. ๑๙๗๑ เสียงของสหภาพแรงงานในการเมืองประเทศจึงมีน้ำหนักมาก จนเอดเวิร์ด ฮีท (Edward Heath)* ผู้นำพรรคอนุรักษนิยมรู้สึกว่าต้องผจญกับการที่สหภาพแรงงานแทรกแซงนโยบายการบริหารของรัฐบาลโดยตลอด เขาถึงกับกล่าวอย่างเหลืออดว่า “ใครบริหารประเทศกันแน่ รัฐบาลหรือสหภาพแรงงาน” ในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๗๔ ฮีทรณรงค์หาเสียงให้ชาวอังกฤษชี้ขาดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือสหภาพแรงงานควรเป็นผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจปรากฏว่าพรรคอนุรักษนิยมพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งและต้องพ้นจากการเป็นรัฐบาล

 ฮาโรลด์ วิลสัน (Harold Wilson)* หัวหน้าพรรคแรงงานที่เข้ามาบริหารประเทศแทนก็ดำเนินการผลักดันพระราชบัญญัติคุ้มครองการจ้างงาน (Employment Protection Act) ค.ศ. ๑๙๗๕ ที่ทำให้แรงงานไม่ถูกไล่ออกจากงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรความรู้สึกขุ่นเคืองต่อบทบาทของสหภาพแรงงานยิ่งแพร่กระจาย ชาวอังกฤษจำนวนมากมีความรู้สึกว่าบทบาทของสหภาพแรงงานในพรรคแรงงานสูงเกินไปการประกาศนัดหยุดงานที่เป็นข่าวคึกโครมในช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๗๘ ถึงต้น ค.ศ. ๑๙๗๙ จนเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ฤดูหนาวที่คับแค้นใจ” (Winter of Discontent)ที่แรงงานในรัฐวิสาหกิจสำคัญๆหยุดงานประท้วงจนสร้างความยากลำบากในการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน ผู้คนจำนวนมากจึงเหลืออดและเมื่อสหภาพแรงงานยืนกรานไม่ยอมรับบรรทัดฐานค่าจ้างที่รัฐบาลพรรคแรงงานเสนอ ก็มีส่วนช่วยทำให้พรรคอนุรักษนิยมได้ชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๗๙ ซึ่งเปิดโอกาสให้มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher)* เป็นผู้นำรัฐบาลที่มีนโยบายไม่อ่อนข้อหรือประนีประนอมกับสหภาพแรงงานเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี จำนวนสหภาพแรงงานที่มีอยู่ก็ลดลงจาก ๔๕๓ แห่ง เหลือ ๓๓๐ แห่งใน ค.ศ. ๑๙๘๗ และก็ลดลงมาอีกเกือบตลอดทศวรรษ ๑๙๙๐ ผู้คนที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานก็ลดลงด้วยเพราะอุตสาหกรรมเก่าในวงการเหล็กกล้า ถ่านหิน การพิมพ์ และท่าเรือที่เคยมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งตกอยู่ในภาวะถดถอยเป็นเวลายาวนาน ใน ค.ศ. ๒๐๑๒ สมาชิกสหภาพแรงงานที่ผูกติดกับสภาสหภาพแรงงานหรือทียูซีมีจำนวนต่ำกว่า ๖,๐๐๐,๐๐๐ คน จากที่เคยขึ้นไปถึง ๑๓,๐๐๐,๐๐๐ คน ใน ค.ศ. ๑๙๗๙

 นอกจากพรรคอนุรักษนิยมดำเนินนโยบายไม้แข็งต่อสหภาพแรงงานแล้ว พรรคแรงงานเองที่มีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับขบวนการสหภาพแรงงานมาตั้งแต่ก่อตั้งพรรคก็เปลี่ยนไปแสดงตนว่ารักษาระยะห่างกับสหภาพแรงงาน โทนี แบลร์ (Tony Blair)* ซึ่งเปลี่ยนโฉมหน้าของพรรคแรงงานใหม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคแรงงานสำเร็จใน ค.ศ. ๑๙๙๗ โดยมีชัยชนะเหนือพรรคอนุรักษนิยมอย่างถล่มทลาย เขาหาเสียงจากชาวอังกฤษด้วยการชูนโยบายใหม่ของพรรคแรงงานใหม่ที่ไม่ผูกติดกับสหภาพแรงงานและอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย ทั้งชูคำขวัญว่า “พรรคแรงงานใหม่ อังกฤษใหม่” (New Labour, New Britain) ทำให้รัฐบาลแบลร์ที่บริหารยาวนานเป็นทศวรรษเช่นกันถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้เปลี่ยนนโยบายด้านสหภาพแรงงานของแทตเชอร์ที่มีแนวนโยบายทำให้การนัดหยุดงานทำได้ยากมากขึ้น

 ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมที่ขยายตัวในประเทศตะวันตกอื่น ๆ ก็ทำให้สหภาพแรงงานในสหรัฐอเมริกาและยุโรปภาคพื้นทวีปเติบโตขึ้นเช่นกัน แรงงานทั่วไปจำนวนมากเข้าสังกัดสหภาพแรงงานเช่นเดียวกับแรงงานฝีมือ ได้แก่ ในฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ออสเตรียและโดยเฉพาะสแกนดิเนเวียซึ่งปัจจุบันมีอัตราผู้คนสังกัดสหภาพแรงงานสูงที่สุด ความเข้มแข็งของขบวนการสหภาพแรงงานในแต่ละประเทศแตกต่างกันไป บางแห่งก็มีบทบาทผ่านทางพรรคการเมืองบางแห่งเลือกที่จะดำเนินบทบาทเป็นสถาบันอิสระในรัสเซียนั้น สหภาพแรงงานได้รับอนุญาตให้จัดตั้งได้หลังการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๐๕ (Russian Revolution of 1905)* แต่ก็มีบทบาทไม่มากนัก ทั้งต่อมาถูกรัฐบาลควบคุมอย่างเข้มงวดในสมัยสหภาพโซเวียต (Union of Soviet Socialist Republics–USSR)* เป็นต้นมา ทำให้กลไกทำงานด้านการฝึกอบรมการร่วมวางแผนเศรษฐกิจ และการบริหารสวัสดิการสังคม ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเจรจาต่อรองค่าแรง

 สำหรับประเทศในเครือจักรภพ (Commonwealth of Nations)* นั้น สหภาพแรงงานมีความเข้มแข็งมากที่สุดในออสเตรเลีย การจัดตั้งเริ่มขึ้นที่เมืองซิดนีย์และเมืองโฮบาร์ต (Hobart) ในทศวรรษ ๑๘๒๐ จากนั้นก็ขยายไปทั่วทวีปจนมีสหภาพแรงงานประมาณ ๔๐๐ แห่งในช่วงที่อังกฤษผ่านกฎหมายรับรองสถานะของสหภาพแรงงานใน ค.ศ. ๑๘๗๑ และเช่นเดียวกับในอังกฤษ สหภาพแรงงานมีบทบาทในการผลักดันการจัดตั้งประเทศใน ค.ศ. ๑๙๐๑ และก่อตั้งพรรคแรงงานแห่งออสเตรเลียในปีเดียวกัน ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ มีการก่อตั้งสภาสหภาพแรงงานแห่งออสเตรเลีย (Australian Council of Trade Unions–ACTU) เหมือนดังทียูซีของอังกฤษด้วย หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหภาพแรงงานของออสเตรเลียประสบความสำเร็จในการเรียกร้องค่าแรง และการลดชั่วโมงทำงานให้เหลือ ๘ ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนั้นสหภาพแรงงานยังสนใจประเด็นทางสังคมอื่น ๆ อีกด้วย เช่น สิทธิของชนพื้นเมือง การไม่เลือกปฏิบัติทางเพศสวัสดิการของผู้อพยพ.



คำตั้ง
Trade Union; Labour Union
คำเทียบ
สหภาพแรงงาน
คำสำคัญ
- การนัดหยุดงานครั้งใหญ่
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๓๐
- การปฏิวัติรัสเซีย
- การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๐๕
- การปฏิวัติอุตสาหกรรม
- ขบวนการชาร์ทิสต์
- คดีทัฟฟ์เวล
- เครือจักรภพ
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- แทตเชอร์, มาร์กาเร็ต
- เบวิน, เออร์เนสต์
- แบล็กไฟรเดย์
- แบลร์, โทนี
- พรรคแรงงาน
- พรรคเสรีนิยม
- พรรคอนุรักษนิยม
- พระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่
- ร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่
- ฤดูหนาวที่คับแค้นใจ
- วิลสัน, ฮาโรลด์
- เวลส์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สมาคมเฟเบียน
- สหพันธ์แรงงานแห่งชาติ
- สหภาพโซเวียต
- สหภาพแรงงาน
- เหตุการณ์ผู้พลีชีพแห่งโทลพัดเดิล
- โอเวน, รอเบิร์ต
- ฮีท, เอดเวิร์ด
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-